Sunday, May 24, 2009

ชำแหละ เสมาดำ จากท่าน ภูริ

จำกระทู้ " กรณีเสมาดำ : ศึกษาด้วยความเป็นกลางทางความรู้ "
Link : http://www.suanboard.net/view.php?p=view&kid=24191&in=1

ตำนานเสมาดำ เป็นตำนานที่อยู่ในช่วงที่ผมจะจบจากสวนกุหลาบพอดิบพอดี เป็นอีกตำนานสุดคลาสสิคที่ผมได้รับการเรียนรู้จากปรากการณ์อันนี้...

(keyword : เสมาดำ , ตำนานเสมาดำ)

" กรณีเสมาดำ : ศึกษาด้วยความเป็นกลางทางความรู้ "
เกริ่นนำ
ช่วงต้นเดือนมกราคมมีเรื่องราวมากมายผ่านหูผ่านตาผม ถ้าไม่นับเรื่องวันปีใหม่ กับเรื่องคลื่นสึนามิ ดูท่าแล้วเรื่องเสมาดำ หรือที่ผมเรียกว่า เสมาดำ ฟีเวอร์ จะเป็นเรื่องที่พูดกันให้ผมได้ยินมาไม่น้อย จริงๆแล้วในช่วงแรกผมไม่ค่อยให้ความสลักสำคัญอะไรกับมันมากนัก จนกระทั่งมีคนอุตส่าห์มาเล่าเรื่องนี้ให้ผมได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆทุกวี่ทุก วัน ทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ที่ยังอุตส่าห์โทรมาแถลงไขให้ผมไปติดตามดู ฟังไปก็เหนื่อยไป จนกระทั่งพี่ Will OSK 121 อุตส่าห์แสกนใบปลิวของคุณเสมาดำ (ผมไม่แน่ใจนักว่า เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคล หรือบุคคลคนเดียว แต่จะขอเรียกว่า “คุณ” ไว้ก่อน) ส่งมาให้ผมทางอีเมล์ เมื่อได้ลองอ่านจึงเริ่มสนใจขึ้นมาทันที เพราะผมถือว่า รูปแบบพฤติกรรม และรูปแบบเนื้อหาที่ปรากฎนั้นน่าสนใจนักในเชิงปรากฎการณ์ และเมื่อมีคนมาบอกให้ผมไปดูในสวนบอร์ด ผมก็ยิ่งทวีความสนใจเข้าไปอีก และไม่ใช่แค่ในเชิงปรากฎการณ์เท่านั้น แต่มันดันแผ่ขยายไปในเชิงวัฒนธรรมด้วยแง่มุมที่สามารถสื่อออกมาอย่างหลาก หลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเป็นสวนกุหลาบฯ เรื่องความเป็นลูกผู้ชายของสังคมสวนกุหลาบฯ เรื่องของกิจกรรม สถาบันชุมนุม ฯลฯ ขณะเดียวกันก็บังเอิญประจวบเหมาะพอดีกับการที่ผมมีธุระจะต้องเข้าไปจัดการ ที่โรงเรียน และอาจารย์ของผมที่มหาวิทยาลัย (อ.เกษียร เตชะพีระ) จะต้องไปประชุมที่อินโดนีเซียพอดี จึงทำให้ผมมีทั้งโอกาส และมีทั้งเวลาที่จะมาลองขลุกอยู่กับเรื่องนี้สักหน่อยว่า มันสื่ออะไรให้เราได้บ้าง เราสามารถตีความมันได้ว่าอย่างไรบ้าง และหากผมโชคดีพอผมคงจะเจอปุ่มที่มองไม่เห็นกลางหลังเด็กสวนฯ แบบที่อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจอปุ่มที่มองไม่เห็นกลางหลังคนไทยบ้าง

“ก่อนจะเปลี่ยนแปลงโลกน่ะ อธิบายโลกให้ได้เสียก่อน” เสน่ห์ จามริก
เราลองใจเย็นลงกันสักนิด ลองเปลี่ยนคำว่า “โลก” เป็นคำว่า “สวนฯ” และมาลองอธิบายกันเถอะ

ใบปลิวเสมาดำ : เชิงพฤติกรรม และเนื้อหา
เมื่อผมได้พริ้นท์เอาใบปลิวออกมาจากอีเมล์ของผม ผมอ่านมันทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในครั้งที่ 2 ผมได้เขียน และบันทึกอะไรลองไปมากมายแบบคำต่อคำตามนิสัย จึงจะขอเรียบเรียง และยกมาได้ ณ ที่นี้ บรรทัดต่อบรรทัด เพื่อลองตีความพฤติกรรมของคุณเสมาดำ

“สวัสดีครับผองเพื่อนชาวสวนกุหลาบทุกหมู่เหล่า ไม่ต้องงงครับ นี่คือบทความที่จะเปิดโปงความจริงสู่ทุกท่าน มันคือการกระชากหน้ากากเพื่อเปิดเผย "ธาตุแท้" ของบุคคลผู้หนึ่ง เขาคือ ปธ.นร. นายพาก”
ผมคิดว่า มุมมองของคุณเสมาดำจะมุมเน้นที่จะ “สื่อ” ไปยังที่รุ่น 123 เป็นเป้าหมายหลัก และอารมณ์ในย่อหน้าแรกก็ออกจะรุนแรงสักหน่อย โดยผมคิดว่า อารมณ์ของคุณเสมาดำคงจะไม่แตกต่างจากอารมณ์ของคนที่นั่งอ่าน “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ หรือคนที่นั่งดู “ไอ้ฟัก” สักเท่าไหร่ ที่มักมีความอึดอัดใจว่า ทำไมสังคม (สวนฯ) มองอะไรแบบนี้ จึงดูเหมือนว่า ไอ้ฟัก = นายพาก หรือ ธาตุแท้ของไอ้ฟักซึ่งเป็นไปในเชิงบวก = ธาตุแท้ของนายพากซึ่งเป็นไปในเชิงลบ (สำหรับคุณเสมาดำ) โดยในความเป็นจริงแล้วสังคมที่ว่าจะมองแบบคุณเสมาดำ แต่ไม่ออกมาพูดรึเปล่า เราก็คงยังไม่รู้ แต่คุณเสมาดำคงได้พบเจอกับสังคมมุมที่มีทัศนคติที่มองนายพากในเชิงบวกมาไม่ น้อย จนถึงกับตัดสินใจว่า การกระทำของตนนั้นเป็น “การเปิดโปงความจริงสู่ทุกท่าน” ผมของเน้นคำว่า “ทุกท่าน” เพื่อยืนยันคำเสนอของผมในข้างต้น ขณะเดียวกันก็มีคำอธิบายจากมุมมองทางจิตวิทยา และปรัชญาการเมืองที่ว่า ตัวตน หรือเอกลักษณ์ที่คุณเสมาดำมองว่านายพากเป็น ทางวิชาการเรียกว่า Self Constituted Identity กับที่สังคมให้ว่าเอกลักษณ์ของนายพากเป็น ทางวิชาการเรียกว่า Community Constituted Identity หากมันไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกัน มันก็จะทำให้คุณเสมาดำคับแค้นใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในทางรัฐศาสตร์เราจะนำมาใช้อธิบายกับเรื่องราวของชายขอบ หรือกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกันบ่อยๆ เพื่อให้ง่ายขึ้น ผมจะลองยกตัวอย่าง คุณทักษิณคงมี Self Constituted Identity ของตน โดยคุณทักษิณคงคิดว่า ตนเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม (ไม่งั้นคงไม่นึกไปไกลถึงขนาดเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียน) และอยากให้ประเทศไทยมองว่า เอกลักษณ์ของคุณทักษิณว่า เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม แต่ที่สังคมมอบให้คุณทักษิณกลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะสังคมให้ว่า เอกลักษณ์ของคุณทักษิณ คือ “ผู้นำจานด่วน” ไม่ใช่ ผู้นำที่ยอดเยี่ยม ในเมื่อมันขัดกัน คุณทักษิณก็คงอึดอัดใจไม่น้อย ขณะเดียวกันเราก็สามารถมองได้อีกมุมว่า คุณเสมาดำดูจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสังคมค่อนข้างสูง หรือน่าจะมีความคิดแบบชุมชนนิยม (Communitariansism) ค่อนข้างมาก (ซึ่งอาจจะดี หรือไม่ดีก็ได้) คุณเสมาดำจึงเชื่อว่า เอกลักษณ์ของแต่ละคนเป็นภาพสร้างในสังคม ที่สายตาคนอื่นสร้างขึ้น เช่น ถ้าสังคมมองว่า นาย ก. เป็นคนพูดมาก ดังนั้นเอกลักษณ์ของนาย ก. ก็เป็นคนพูดมาก สังคมได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับนาย ก. เป็นต้น ถ้าคุณเสมาดำไม่คิดแบบนี้แล้ว คุณเสมาดำก็คงจะไม่ใส่ใจอะไรมากมายกับเอกลักษณ์ของนายพากที่คนอื่นสร้าง และคิดว่า ใครจะคิด จะมองยังไงก็อย่าไปสนใจเลย “กู” ให้นายพากมีเอกลักษณ์เป็นประธานนักเรียนที่แย่ ใครจะว่ายังไงก็ตามใจ เพราะเอกลักษณ์มันก็แล้วแต่ใครจะมอง
นอกจากนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า คุณเสมาดำมีเจตนาอะไรหรือไม่ที่ใช้คำว่า “นายพาก” มากกว่าจะใช้คำว่า “นายภาคย์”

“ท่านทั้งหลาย ท่านคงพอทราบว่า "กิจกรรม" คือเอกลักษณ์ของโรงเรียนแห่งนี้ และสิ่งที่ทำให้เอกลักษณ์นี้เป็นเอกลักษณ์ได้อย่างแท้จริงนั้น ก็เพราะผู้ทำกิจกรรม คือ นักเรียน การทำกิจกรรมเป็นของนักเรียน และทำโดยนักเรียน เพราะเหตุนี้ ตัวแทนนักเรียนอย่างประธานนักเรียนนั้น ต้องเป็นผู้ทำกิจกรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวควบคู่กับ "กิจกรรม"”
ประเด็นนี้บอกเราในเชิงพฤติกรรมว่า คุณเสมาดำให้ความสำคัญกับกิจกรรมมาก และพยายามผูกเรื่องเชิงคุณค่าอย่างกิจกรรมเข้ามาสร้างน้ำหนักให้กับข้อกล่าว หาของคุณต่อนายพาก แต่อย่างไรผมก็คิดว่า ท่อนนี้ดูน่าจะเป็นท่อนมีอ่านแล้วดูมีเหตุผลมาก และมีอารมณ์น้อยกว่าท่อนที่เหลือทั้งหมดในใบปลิว โดยในเรื่องของเนื้อหาผมว่า มันมีการแฝงเอาเรื่องวัฒนธรรมของสวนกุหลาบฯมาไว้ในท่อนนี้พอสมควร ซึ่งจะขอกล่าวต่อไปในภายหน้า

“แต่ท่านลองนึกภาพดูว่าประธานนักเรียน ที่ไม่รู้จักกิจกรรมจะเป็นอย่างไร หากนึกไม่ออก มองไปที่นายพากคนนี้สิครับ ประธานนักเรียนคนแรกที่ไม่รู้จัก "กิจกรรม" แต่สะเออะมาเป็น ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งจนถึงวันนี้ (วันที่จะไปให้พ้นซะที) มันยังไม่เคยทำตัวให้สมกับเป็นประธานนักเรียน ยังไม่รู้จักหน้าที่ของมัน จนถึงวันนี้ มันก็ยังเข้าใจว่า การกินตำแหน่ง แล้วได้พูดจาโอ้อวด เลียขาอาจารย์ หรือทำงานแบบลวกๆ แล้วก็โยนงานเอา เป็นหน้าที่ที่มันควรทำงานที่ควรจะนำมาประชุมขอความคิดเห็น ก็ตัดสินใจเอาเอง งานที่รอมันมาประสานงานก็ได้แต่รอ ถามว่างานไหนที่มันพร้อมทำ ตอบได้ทันที ก็งานที่มันได้หน้า ได้สร้างภาพ ส่วนงานอื่นๆที่ต้องใช้สมอง ทำงานหนัก ก็นี่แหละครับหน้าที่ของก.น. คอยทำงานเหลือๆที่มันโยนมา ความเหน็ดเหนื่อย การเสียสละที่ถึงแม้จะถูกหลอกใช้ แต่ก็ยังทำด้วยความเต็มใจ จริงอยู่ที่ท่านมีความภาคภูมิ แต่ท่านยอมหรือ งานบางอย่างที่ท่านทำด้วยความลำบาก ยังถูกมันเอาไปแอบอ้างเอาหน้า นี่หรือ ประธานนักเรียน
ปากบอกทำเพื่อโรงเรียน แต่การกระทำของมันบอกว่านี่คือ การสร้างภาพให้ตัวเอง คือการสร้างผลงานใส่ P o r t f o l i o ของตัวเองนี่ยังไม่นับรวมถึงความสามารถในการตีสองหน้า เวลาทำงาน รับปากฝ่ายหนึ่ง แล้วไปรับปากอีกฝ่ายหนึ่ง วันนี้พูดอย่าง แล้ววันหน้าพูดอีกอย่าง คนไร้สัจจะเช่นนี้ นี่หรือประธานนักเรียน”
คุณเสมาดำคงมันมือน่าดูขณะเขียนท่อนนี้ทั้งหมด และคงจะคัดมือน่าดูก่อนการเขียน ผมลงจับได้ความว่า นายพากมีความผิด (ถ้ายึดเอาคุณเสมาดำเป็นฐานคิด) ทั้งหมด 10 ข้อหา คือ 1.ไม่รู้จักกิจกรรม 2.ทำตัวไม่สมเป็นประธานนักเรียน ไม่รู้จักหน้าที่ 3.กินตำแหน่ง 4.พูดจาโอ้อวด 5.เลียขาอาจารย์ 6.ทำงานลวกๆ โยนงาน 7.เผด็จการทางการตัดสินใจ 8.ชอบเอาหน้า สร้างภาพ 9.แอบอ้างผลงาน 10.ตีสองหน้า ไร้สัจจะ (ซึ่งผมคิดว่า การตีสองหน้าบางทีก็จำเป็น) ผมไม่ขอรวมเรื่อง Portfolio เข้าไป เพราะคิดว่า คุณเสมาดำน่าจะมีเจตนาที่จะนำมาใช้เสริมเหตุผลของตนมากกว่าในเรื่องแอบอ้าง ผลงาน และเรื่อง Portfolio ก็ไม่น่าจะใช่ความผิด ถ้าผลงานเป็นของตน ซึ่งถ้าไม่ใช่ของตนมันก็ไปเข้าข่ายความผิดในเรื่อง แอบอ้างผลงานอีกนั่นแหละ ในท่อนนี้คุณเสมาดำได้คิด และทำแบบ Revolutionary Mental ที่มองว่า การปลุกระดมนั้นดีกว่าการตั้งคำถาม ซึ่งฐานความคิดลึกๆไม่น่าต่างกับของโทมัส ฮ็อบส์ ที่มองว่า มนุษย์โง่เกินไป (ดังนั้นฮ้อบส์จึงค่อนข้างสนับสนุนแนวคิดอำนาจนิยม) ขณะที่คุณเสมาดำก็คงไม่ได้คิดแรงขนาดที่ว่า เด็กสวนฯโง่เกินไป แต่คงคิดว่า เด็กสวนฯไม่รู้มากกว่า ดังนั้นคุณเสมาดำจึงมองธรรมชาติของเด็กสวนฯว่า เด็กสวนฯไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และไม่น่าจะคิดออกได้ หรือรู้ได้ คุณเสมาดำจึงเลือกที่จะอัดเป็นแบบฉบับสำเร็จรูปออกมาว่า นายพากเค้าเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ แทนที่จะบรรยาออกมาว่า นายพากเค้าทำอย่างงั้นอย่างนี้ บรรยายเป็นฉากพฤติกรรม และให้เด็กสวนฯที่อ่านลองคิดเอง นอกจากนี้คุณเสมาดำยังมองตำแหน่งประธานนักเรียน as a transitive reality ซึ่งจะขออธิบายต่อไปในภายหน้า
ขณะเดียวกันคุณเสมาดำก็ยังคงอยู่กับเรื่อง Community Constituted Identity (ที่เคยกล่าวในข้างต้น) เป็นพิเศษ เพราะบรรดาความผิดทั้งหลายที่คุณเสมาดำสาธยายมายังคงอยู่ที่เรื่องภาพพจน์ หรือภาพสร้างในสังคมของนายพาก

”อาจารย์ทั้งหลายก็เช่นกัน เลิกงมงายไปกับภาพที่มันสร้างว่าเป็นเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม เป็นอะไรที่เลิศเลอ หยุดความคิดผิดๆไว้เพียงแค่นี้เถอะครับ การรู้จักกับพ่อมัน หรือการประจบสอพลอ(เลียเก่ง) ไม่สามารถตัดสินคุณค่าของคนได้หรอกครับ!” ท่อนนี้ก็ยังคงอยู่ที่เรื่อง Community Constituted Identity แต่ Community ในที่นี้คือ Community ของอาจารย์ คุณเสมาดำคิด หรือเชื่อว่า อาจารย์ทั้งหลายมองนายพากว่า “เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม เป็นอะไรที่เลิศเลอ” ผ่านกระบวนการสร้างภาพของนายพาก ด้วยเครื่องมือ 2 ชิ้นคือ การรู้จักกับพ่อนายพาก และการประจบสอพลอ ซึ่งในส่วนของคุณทำให้ผม และหลายๆคนถือว่า คุณเสมาดำเป็นคนวงใน หรือทำการบ้านมาดี จนรู้ว่าพ่อนายพากคือใคร และที่สำคัญกว่าคือ เป็นใครในโรงเรียน เพราะไม่งั้นแล้วคุณเสมาดำก็ไม่น่าจะรู้ได้ เพราะผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะมีคนรู้ว่า พ่อนายพากเป็นใคร ถึงร้อยคน เพราะแม้แต่จะถามว่านายกสมาคมศิษย์เก่าคนปัจจุบันชื่ออะไร ผมก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะมีคนรู้ถึงร้อยคนรึเปล่า

(ยินมาจากวงใน, เพื่อนม.6 รุ่น 123 ทั้งหลายท่านรู้มั๊ยว่า นายคนนี้ มันเซ็นรับรองเพื่อเป็นสัญญาเอาเงินค่าบัตรประกันภาชนะตอนม.4) ของเรา ให้กับโรงเรียนไปหมดแล้ว โดยที่ไม่ได้ถามความเห็นของเราทุกคนแม้แต่น้อย ปกปิดเงียบ ราวกับว่า มันมีอำนาจสั่งการทุกอย่าง ไม่ได้เสียดายเงิน แต่เสียความรู้สึกที่คิดผิดเลือกมันมาเป็นประธานนักเรียน เราจะยอมเป็นบันไดให้บุคคลอย่างนี้เหยียบย้ำต่อไปหรือ ว่าไง! )
ในตอนแรกผมได้เขียนลงไปว่า “No comment” เพราะประเด็นมันอยู่ที่ว่า นายพากทำ หรือไม่ได้ทำ และแม้ว่านายพากจะไม่ได้ทำ แต่ผมก็เชื่อว่า ตอนเรื่องราวท่อนนี้กำลังถูก Construct ขึ้นเป็นความจริงแล้ว เพราะอย่างน้อยก็มีคนบอกผมถึง 3 คนว่า “มึง/พี่รู้มั้ยว่า ภาคย์เขาไปเซ็นต์บัตรประกันภาชนะ” เหมือนกับว่า นายพากทำไปแล้ว เซ็นต์ไปแล้ว ทั้งๆที่มันยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยซ้ำ เหมือนกรณีคดีดวงเฉลิม เมื่อก่อนที่ศาลจะตัดสิน สังคมก็ฟันธงไปแล้วว่า ผิด เพราะสังคมเชื่อว่า เรื่องนี้มันเป็นความจริง สังคมทำเหมือนกับว่าเรื่องราวที่ได้ยินมามันเป็นความจริง สังคมทำเหมือนกับว่ามันเป็นความจริง และท้ายที่สุดมันจึงเป็นความจริง ผมเชื่อว่า นายพากกำลังเป็นเหยื่อ และตกอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในกระบวนการอันนี้ ซึ่งอ.เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนไว้ในมติชนรายสัปดาห์ว่า นี่คือ กระบวนการเชื่อ-ทำ-จริง
คำอธิบายของผมต่อเนื้อหา และพฤติกรรมของใบปลิวคุณเสมาดำผมก็มีเท่านี้ ส่วนประเด็นต่อไปผมจะขอนำเสนอเรื่องราวที่เป็นข้อมูลที่ได้มาจากโรงเรียน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548
1. นักเรียนในโรงเรียนมีทั้งสนับสนุน และต่อต้านการกระทำของคุณเสมาดำ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสัดส่วนพอๆกัน โดยฝ่ายสนับสนุนจะให้เหตุผลเด่นๆที่เรื่อง การประเมินผลงาน การเปิดเผยความจริง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การยกระดับมาตรฐานประธานนักเรียน ฯลฯ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านจะให้เหตุผลเด่นๆในเรื่อง การทำลายชื่อเสียง การทำลายสถาบัน การมาทำดีเมื่อสายไปแล้ว พฤติกรรมรุนแรงเกินไป (โดยมักอ้างว่า ควรจะเข้าไปพูดกันก่อนจะมาทำใบปลิว) การเขียนโดยขาดเหตุผล ฯลฯ
2. ประเด็นดังกล่าวดูจะเป็นที่สนใจของนักเรียนม.ปลาย และนักเรียนที่ทำกิจกรรมเท่านั้น ขณะที่เด็กนักเรียนส่วนอื่นๆแทบไม่รู้เรื่อง ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งประธานนักเรียนคนใหม่มากนักในหมู่ คะแนนจากน้องๆม.ต้น
3. อาจารย์ภายในโรงเรียนเท่าที่ได้สอบถามทั้งหมดไม่ทราบเรื่อง และที่ทราบก็ไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าวเลย
4. ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องบัตรประกันภาชนะ จากการสอบถามฝ่ายการเงินพบว่า ไม่มี และไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ในทางนิตินัย ผมจึงค่อนข้างสงสัยกับความน่าเชื่อถือของ “วงใน” ของคุณเสมาดำว่า ดูจะเป็นวงหลับในมากกว่า

วัฒนธรรมสวนกุหลาบฯ : กรณีศึกษาจากเสมาดำ ฟีเวอร์
ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าศึกษามากกว่าน่าทะเลาะ ดังนั้นผมจึงพยายามปีนขึ้นหอคอยสักพัก และคิดกับมันอย่างจริงจัง ซึ่งก็พอจับความได้ 5 ประเด็น ซึ่งถ้าเป็นการจับที่หยาบ และตื้นเขินไปก็ต้องขออภัยในที่นี้ด้วย หัวข้อคือ เราจะจับกรณีเสมาดำมาอธิบายผ่านมุมมองแบบวัฒนธรรมสวนกุหลาบฯบนฐานแบบเหตุผล นิยม

1. ฐานคิดของสวนกุหลาบฯ ในทุกสังคมมันจะมีฐานคิดของตนเป็นหลัก เช่น ประเทศไทยก็มีความเป็นไทยเป็นฐานคิด หรือศาสนาคริสต์ก็มีพระผู้เป็นเจ้า (God) เป็นฐานคิด สิ่งที่งอกเงยขึ้นมาย่อมเป็นเหคุผลที่สอดคล้องกับฐานคิด เช่น ศาสนาคริสต์ ฐานคิดคือ พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่งอกเงยขึ้นมาก็มีมากมายทั้งพระคัมภีร์ พิธีกรรม และในบางกรณีสิ่งที่งอกเงยขึ้นมาก็ทะเลาะกันเอง เช่น นิกายต่างๆในศาสนาคริสต์ที่ทะเลาะกันอย่าง คาธอลิก โปรเตสแตนท์ ลูเทอรัน ฯลฯ แต่ละนิกายต่างก็มีเหตุผลของตนมากพอที่จะยืนยันว่า ตนนี่แหละถูกต้อง ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนี้ก็ต้องสอดคล้องกับฐานคิด หรือพระผู้เป็นเจ้าอีกเช่นกัน ดังนั้นศาสนาคริสต์จึงดำรงต่อไปได้บนฐานคิดอันนี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ เราไม่เคยแตะต้องฐานคิดเลย เพราะอะไรกัน? ก็เพราะว่ามันห้ามแตะนะสิ คุณแค่เชื่อก็พอแล้ว อย่าตั้งคำถาม ระบบมันดำเนินไปได้ตราบใดที่คุณเชื่อ แต่ถ้าคุณไม่เชื่อขึ้นมา ระบบก็จบ ถ้าคุณไปตั้งคำถาม ถ้าคุณไม่เชื่อฐานคิด ระบบก็ล่ม ซึ่งในกรณีของฐานคิดสวนกุหลาบฯ ผมคิดว่า มันคือความเป็นสวนกุหลาบฯ กรณีเสมาดำเป็นสิ่งที่งอกเงยจากฐานคิด หรือความเป็นสวนกุหลาบฯ ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้าน ต่างมีพฤติกรรมของตนที่ชอบด้วยเหตุผล แต่เป็นเหตุผลบนฐานคิด ขณะนี้บางคนอาจจะคิดว่า ไอ้ฉิบหายคิดอะไรมากมายวะ? งั้นเราลองมาเปลี่ยนฐานคิดดูนะครับ ถ้าฐานคิดดังกล่าวไม่ใช่ความเป็นสวนกุหลาบฯ แต่เป็นเรื่องประชาธิปไตยเสรีนิยม คนที่ออกมาคัดค้านว่า ไม่เหมาะสม ไม่ควรทำแบบสาธารณะ ไม่น่าออกใบปลิวเผยแพร่ (เฉพาะสองสาเหตุนี้เท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นสาเหตุที่คัดค้านอย่าง ไม่ใช่ความจริง ฯลฯ ก็ไม่ขัดต่อฐานคิด) จะไม่สามารถคัดค้านได้เลย เพราะมันไม่ชอบด้วยเหตุผลบนฐานของประชาธิปไตยเสรีนิยม ขณะเดียวกันถ้าเปลี่ยนฐานคิดเป็นเรื่องความมั่นคงของสถาบัน คุณเสมาดำคงจะไม่มีสิทธิแม้แต่จะพูดด้วยซ้ำ เพราะความมั่นคงของสถาบันย่อมมาก่อนความถูก – ผิด ใครจะทำอะไรเลวแค่ไหน เงียบไว้ อย่าให้สถาบันเสียความมั่นคง หรือพูดง่ายๆก็คือ เสียชื่อ สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ สังคมสวนกุหลาบมันก็มีฐานคิดแฝงอยู่ เป็นความเคยชินที่ไม่เคยใช้เหตุผลคิดมาก่อน มองในมุมที่ใหญ่ขึ้นประเทศไทยมีความเป็นไทยเป็นฐานคิด และด้วยฐานคิดนี้สามารถทำให้คนไทยลุกขึ้นมา “ฆ่า” เมื่อ 6 ตุลาฯ และฐานคิดนี้ก็ทำให้คนไทยลุกขึ้นมา “ช่วย” เมื่อเหตุการณ์คลื่นสึนามิ แล้วฐานคิดของสวนกุหลาบฯล่ะ? มันทำอะไรได้บ้าง เราเคยตั้งคำถามกับมันบ้างรึยัง? เราเคยเอาเหตุผลไปจับกับมันบ้างรึยัง? ผมเชื่อว่าถ้าถามว่า ความเป็นสวนกุหลาบฯดีหรือไม่ ทุกคนคงตอบได้เลยว่า ดี ด้วยความเคยชิน แต่ถ้าถามว่า ทำไมมันถึงดีล่ะ? เราจะตอบว่าอะไร และทำไมตั้งแต่ม.1 – ม.6 เราจึงเชื่อว่า มันดีล่ะ? มันคือความเคยชินที่ไม่ต้องใช้เหตุผลคิดรึเปล่า? ข้อสังเกตหนึ่งคือ อาจจะมีคนเริ่มหงุดหงิดว่า ผมจะมาตั้งคำถามทำไมกับเรื่องแบบนี้ ผมก็คิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะถ้าเราสามารถอธิบายมันได้ เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ สามารถพัฒนามันได้ เหมือนที่อ.เสน่ห์บอกในตอนต้น อย่าลืมสิครับว่า ในบางครั้งความเป็นสวนกุหลาบฯก็นำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ได้ข้อสรุปมากมาย อย่างกรณีการบูมที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันว่า กูนี่แหละความเป็นสวนกุหลาบฯ ต่างฝ่ายต่างก็ความเป็นสวนกุหลาบฯ มันเลยเถียงไม่จบ ทั้งที่ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ถ้าถามน้องๆเหล่านั้นไปว่า แล้วความเป็นสวนกุหลาบฯคืออะไรล่ะครับ? น้องเขาจะตอบได้รึเปล่า ขณะเดียวกันบางคนก็อาจจะบอกว่า บางอย่างมันก็ไม่ต้องมีเหตุผล เชื่อไปเหอะดีแล้ว ผมอยากแนะนำให้ไปลองอ่านนิยายเรื่อง แสนรักแสนแค้นของ ศรีบูรพาที่คัดค้านคำกล่าวที่ว่า ความรักไม่ต้องมีเหตุผล แถมศรีบูรพายังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็น อย่างยิ่ง ผมเชื่อว่า เรื่องฐานคิดเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องของสังคมผมจึงควรจะทำแค่ตั้งคำถามมากกว่า และผมก็เกรงว่า ความรู้ที่มีคงไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่าการตั้งคำถาม

2. Transitive Reality กับสวนกุหลาบฯ ผมเริ่มคิดว่าสวนกุหลาบฯเราเป็นสังคมของ Transitive Reality เป็นสังคมที่ความจริงของสังคมมาจากการสร้างขึ้นทั้งนั้น ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากประเทศไทย หรือโลกใบนี้สักเท่าไหร่ คือ โลกเราประกอบด้วยความจริงที่เป็นไปตามตัวของมัน หรือ Intransitive Reality เช่น โลกกลมมันก็กลมของมันไป กับความจริงที่สร้างขึ้น หรือ Transitive Reality เช่น เราบอกว่าคนไทยเป็นคนรักสันติ จริงรึเปล่า? ผมไม่รู้ แต่ผมเคยได้อ่าน และได้ยินนายกรัฐมนตรีไทยถึง 4 ท่านพูดว่า คนไทยเป็นคนรักสันติ ถามว่าผลคืออะไร ก็ลองไปถามดูสิครับว่า คุณเป็นคนไทยรึเปล่า? ถ้าเป็น งั้นคุณก็ต้องรักสันติสิ ในกรณีเดียวกัน เรื่องราวทั้งหลาย เช่น ความเป็นอริกับเทพศิรินทร์ก็เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นทั้งนั้น ผมเคยได้ยินเพื่อนสวนกุหลาบฯที่มหาวิทยาลัยพูดกับเพื่อนที่ไม่ใช่สวนกุหลาบฯ ว่า “จริงๆแล้วสวนฯกับเทพฯไม่ค่อยถูกกัน” และในมุมที่กลับกัน ถ้าถามดูว่า คุณเป็นเด็กสวนฯรึเปล่า? ถ้าเป็น งั้นคุณก็ต้องเป็นอริกับเทพศิรินทร์สิ สิ่งที่น่ากลัวจากความจริงที่ถูกสร้างขึ้นคือ มันเป็นเครื่องมือได้โดยไม่รู้ตัว จากเรื่องราวเกี่ยวกับเทพศิรินทร์ที่ได้ยินมาจากรุ่นพี่ ซึ่งจะจริงรึเปล่า หรือใส่สีแค่ไหนเราก็ไม่รู้ ถูกจับปั้นให้เป็นความจริงในทันที และความจริงดังกล่าวก็ผลักให้ลูกสวนฯจำนวนไม่น้อยไป “ตี” เขา สำหรับกรณีเสมาดำทำให้ผมฉุดคิดเรื่องนี้ขึ้นจากท่อนที่ว่า “"กิจกรรม" คือเอกลักษณ์ของโรงเรียน” ซึ่งก็เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาอีกเช่นกัน แต่ออกจะเป็นความจริงที่เป็นคุณ หากสวนกุหลาบสามารถแยกแยะได้ว่า ความจริงที่เราเชื่อนั้นมันถูกสร้างขึ้น ก็ย่อมเข้าใจว่ามันก็ต้องถูกล้มได้ เพราะเพลโตถือว่า สัจจะที่เป็นนิรันดร์อย่างแท้จริงนั้นคือ Intransitive Reality ไม่ใช่ Transitive Reality ซึ่งจะทำให้สวนกุหลาบฯล้มความเชื่อ และค่านิยมผิดๆได้อย่างมากมาย

3. ความเป็นชุมชนทางความทรงจำ (Community of Memory) ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งพยายามที่จะเป็น สวนกุหลาบฯเป็นชุมชนทางความทรงจำก็เพราะ สิ่งที่ผูกสวนกุหลาบฯเข้าไว้ด้วยกันนั้นคือ ความทรงจำเพียวๆ อย่างถ้าผมถามว่า น้องจำได้มั้ย ชาวสวนกุหลาบฯเคยร่วมกันเดินขบวนประท้วงกระทรวงศึกษาธิการ ในความเป็นจริงน้องคนนั้นอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำ เพราะมันจะรู้ได้ไงในเมื่อมันเพิ่งเข้ามา แต่ด้วยความทรงจำทั้งหลาย ประวัติศาสตร์ทั้งหลายของโรงเรียนก็เป็นเครื่องมือหลอมให้นาย ก. นาย ข. นาย ค. กลายเป็นชาวสวนกุหลาบฯ จากใครก็ไม่รู้มาต่างที่ต่างถิ่นมานั่งเรียนถูกยัดประวัติศาสตร์ ถูกยัดเกียรติภูมิ ความทรงจำเกี่ยวกับโรงเรียน จนทำให้คุณเริ่มสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่จากนาย ก. ให้เป็นชาวสวนกุหลาบฯ เป็นชาวสวนกุหลาบฯที่มีสีชมพู – ฟ้าเป็นสีโปรดของเรา มีเกียรติภูมิของโรงเรียนเป็นเกียรติภูมิของเรา ที่เราร่วมภาคภูมิใจด้วย ผลคือนาย ก. ได้กลายเป็นสมาชิกของชุมชนแห่งความทรงจำที่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว และยังทำให้คุณต้องเริ่มนับญาติว่า คนนั้นคือน้องคุณ พี่คุณอีกด้วย ในประเด็นนี้หากยังไม่ชัดเจนผมอยากให้ลองอ่าน “บ้านครัวบ้านใคร” ของอ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในผู้จัดการรายวัน 25 เมษายน 2537 ดูนะครับ

4. ประธานนักเรียนกับความโดดเด่นที่สวนทาง คุณเสมาดำชี้ให้เห็นว่าในสังคมสวนกุหลาบฯโดยเฉพาะในด้านการทำกิจกรรม ตำแหน่งประธานนักเรียนดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะชุมนุมคือชุมนุม ถ้านาย ก. ประธานชุมนุม ก. ทำงานออกมาดี ชื่อก็จะตกอยู่ที่ชุมนุม ก. ไม่ใช่นาย ก. ขณะที่ตำแหน่งประธานนักเรียนกลับสวนทางกับชุมนุมอย่างสิ้นเชิง เพราะงานที่เกิดไม่ว่าจะดีหรือเลวประธานนักเรียนต้องรับ ไม่ใช่คณะกรรมการนักเรียน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องลำบากไม่น้อยที่ประธานชุมนุมจะต้องปรับตัวในการเป็น ประธานนักเรียน ขณะเดียวกันเรามองว่าชุมนุมเป็นสถาบัน และ ประธานชุมนุม หรือ Staff ชุมนุมคือ สมาชิกของสถาบัน แต่สำหรับประธานนักเรียนเรามักมองว่า ประธานนักเรียนคือ สถาบันของตัวมันเอง ไม่ได้มองว่าคณะกรรมการนักเรียนคือสถาบัน และประธานนักเรียนคือ สมาชิกของสถาบัน ซึ่งมันก็ใช่ และชอบธรรม เพราะประธานนักเรียนมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่คณะกรรมการนักเรียนมาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นความเป็นสถาบันของสองหน่วยงานนี้จึงต่างกันอย่างลิบลับในสายตาของชาว สวนกุหลาบฯ

5. ประโยชน์สุขสูงสุดของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคล มีคนเข้ามาคัดค้านคุณเสมาดำมากมายด้วยเหตุผลสารพัดเรื่องสถาบัน ซึ่งทำให้ผมตระหนักว่า เราจริงจังกับเรื่องสถาบันแค่ไหน สวนกุหลาบฯเราไม่มีเรื่องบุคคล มีแต่เรื่องสถาบัน ซึ่งถ้ามองเผินๆก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าความเชื่อนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือล่ะ ในแง่ดีความเป็นสถาบันทำให้เราไม่เอาเสื้อออกนอกกางเกง เพราะกลัวสถาบันเสียชื่อ แต่ไม่ได้กลัวเลยว่า “ฉัน” จะเสียชื่อ แต่ในแง่ร้ายกลับมีความพยายามเอาบุคคลไปผูกกับสถาบันหลายครั้ง โดยเอาสถาบันมาเป็นโล่ คุ้มครองตัวเอง เอาสถาบันมาอ้างเพื่อความชอบธรรม เพราะในวงสนทนาเรื่องคุณเสมาดำมีคนเสนอว่า เวลาคนอ่านใบปลิวเขาจะด่าสถาบันเราจนเสียชื่อหมด ทันใดนั้นก็มีคนค้านว่า เขาจะด่าตัวบุคคล (นายพาก) มากกว่าสถาบัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นแง่มุมที่แตกต่างกันระหว่าง แง่มุมที่เหมารวม กับแง่มุมที่แยกส่วน โดยผมฟันธงไม่ได้ว่าใครถูก แต่มันก็น่าคิดถ้ามันมีคนเอาตัวเองไปผูกกับสถาบัน เพื่อแลกกับการคุ้นครองล่ะ? อะไรจะเกิดขึ้น และชาวสวนกุหลาบฯจะแยกความแตกต่างได้แค่ไหนระหว่างบุคคล กับสถาบัน เพราะกระบวนการหล่อหลอมตลอด 6 ปี มันเป็นเรื่องของส่วนรวมเพียวๆ เรื่องความสามัคคี เพื่อความเป็นหมู่เหล่า แทบไม่มีเรื่องปัจเจกบุคคลเลย

ส่งท้าย
ขออภัยอย่างยิ่งถ้าความสามารถของผมในการใช้ภาษาดูจะไม่ชัดเจน หรือคลุมเครือไป และจะยิ่งขออภัยถ้าการตีความต่างๆของผมนั้นตื้นเขิน หยาบ หรือผิดพลาดเกินไป โดยส่วนตัวผมพยายามคิดให้มากกับกรณีเสมาดำ โดยไม่แน่ใจว่า คิดมากเกินไปรึเปล่า สิ่งที่ผมต้องการนั้นเป็นในเชิงทฤษฎี มากกว่านโยบาย ผมไม่ต้องการที่จะตัดสินคุณค่าเท่าไหร่นักกับการกระทำของคุณเสมาดำ แต่หลายคนคงต้องการ สิ่งหนึ่งที่ผมมองคือ ในการถกเถียงเรื่องนี้ เราไม่ได้เปิดจุดยืนอื่นๆเลย เรามีแค่ “ดี” กับ “เลว” เรามีแค่สองขั้วในการตัดสิน ทั้งที่บางทีในการกระทำของคุณเสมาดำอาจจะมีข้อดี และข้อเสียทั้งสองอย่างในตัวก็เป็นได้ แต่เราตัดสินใจแยกมันเป็นสองขั้ว ทำให้ผมกลัว เพราะในอดีตการแย่งเป็นสองขั้วทำให้สวนกุหลาบฯนิยมทำนั้นทำให้เราพลาดมากไม่ น้อย เราฟันธงโลกซะเป็นสองขั้วจนหลงลืมที่จะเก็บส่วนดีของโลกที่เราฟันธงว่าเลว และหลงลืมที่จะระวังกับส่วนเลวของโลกที่เราฟันธงว่าดี.

ป.ล. ลืมไปครับเพื่อเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมย์ที่ถกเถียงกันมานานในกระทู้ก่อนผมชื่อภูริครับ

No comments:

Post a Comment